
ยอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดเขาสูงสุดของประเทศ มีลักษณะของพันธุ์ไม้เขตอบอุ่น ผสมกับพันธุ์ไม้เขตร้อนที่ยังคงมีพรรณไม้ในสกุลต่างๆ ให้ได้พบเห็นและสิ่งหนึ่งที่จะรู้สึกความแตกต่างระหว่างยอดดอยอินทนนท์กับพื้นที่เชิงดอยก็คืออุณหภูมิความหนาวเย็นที่แตกต่างกันมาก เหตุที่เกิดปรากฏการณ์เช่น ก็เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ความสูงของพื้นที่ก็เป็นตัวกำหนดที่ค่อนข้างเด่นชัด เนื่องจากความสูงที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อุณหภูมิลดลง ความสูงเพิ่มขึ้นทุกๆ 100 เมตร จะทำให้อุณหภูมิลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 0.1 องศาเซลเซียส

โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม – มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0- 4 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็ง (frost) เกิดขึ้นระดับกลางๆ ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บริเวณจุดสูงสุดบนยอดดอยอินทนนท์นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระสถูปของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้เป็นที่มาของชื่อดอยอินทนนท์แห่งนี้อีกด้วย

